Search

รายงานพิเศษ : บาทดิจิทัล..อัศวินม้าขาวปกป้องอธิปไตยการเงิน - efinanceThai

biasa.prelol.com

 

ตั้งแต่มีข่าว “หยวนดิจิทัล” ของจีนและ “ลิบรา 2.0” ของเฟซบุ๊ก ทำให้เกิดความตื่นตัวของผู้คนทั่วไป เริ่มสนใจศึกษาเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) และในช่วง 1-2 ปีมานี้ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ต่างก็ทำการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการออก CBDC เพื่อจะได้มีสกุลเงินประ จำชาติในรูปแบบดิจิทัล แทนที่จะเพิกเฉยแล้วปล่อยให้หยวนดิจิทัล (DCEP) หรือลิบรา (Libra) ของเฟซบุ๊กแทรกซึมเข้ามาในประเทศ เปรียบเทียบได้กับที่ทุกวันนี้ที่สารพัดแอปยอดฮิตในชีวิตประจำวันคนไทย ก็ล้วนเป็นของต่างชาติเสียส่วนใหญ่ (เหลือไว้บ้างก็แอปของธนาคาร)   

 

เรื่องของ CBDC ที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังตื่นตัวศึกษากันอยู่นี้  หลายคนอาจไม่ทราบว่าความจริงแล้วธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นธนาคารกลาง “กลุ่มแรกๆ ของโลก” ที่เริ่มศึกษาในเรื่องนี้ตั้งแต่ 2560 ก่อนจะเริ่มเกิดโครงการทดลองขึ้นในปี 2561 ในชื่อ "โครงการอินทนนน์"

 

ชื่อโครงการอาจจะฟังแล้วไม่ติดหู และไม่ได้เกิดการรับรู้เป็นภาพจำว่ามันเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล เพราะชื่อนี้อ้างอิงมาจากชื่อ “ดอยอินทนนท์” ยอดดอยที่สูงที่สุดของไทย และเราเลียนแบบมาจากต่างประเทศที่ใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติ มาตั้งเป็นชื่อโครงการ (ในช่วงแรกของการก่อตั้งโครงการ ผู้บริหาร ธปท.เล่าว่ามีต่างชาติเสนอ “เกาะกูด” ด้วยนะ  >_)

 

“โครงการอินทนนท์” พัฒนาและทดสอบระบบต้นแบบการโอนเงินภายในประเทศด้วย "สกุลเงินดิจิทัลจำลอง" ที่ออกโดย ธปท. บนเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (DLT) มีทั้งหมด 3 เฟสและทดสอบจบไปแล้วทั้ง 3 เฟส เมื่อปลายปี 2562  

 

โดยทั่วไป CBDC มี 2 ประเภท 1.Retail CBDC คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เหมือนกับที่เราใช้เงินสดเพียงแต่อยู่ในรูปดิจิทัล และ 2. Wholesale CBDC หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อให้สถาบันการเงินใช้ชำระเงินมูลค่าสูงระหว่างกัน  

 

บางประเทศเริ่มต้นพัฒนาจากแบบ Wholesale CBDC ก่อน เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แคนาดา และฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยก็เริ่มต้นจาก Wholesale เช่นกัน แต่บางประเทศเริ่มจากแบบ  Retail CBDC ก่อน เช่น สวีเดน และประเทศจีน  แต่ท้ายที่สุดแล้วธนาคารกลางแต่ละประเทศก็ต้องมุ่งสู่ Retail CBDC เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปได้ใช้งาน  

 

#จบการทดสอบ Wholesale CBDC อินทนนท์แล้ว ธปท.ทำอะไรต่อ? 

 

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.63 ธปท.ได้เปิดตัว"โครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินของภาคเอกชน โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC)" โดยทดสอบในระบบซัพพลายเชนของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ CBDC ก็คือเงินบาทที่ผลิตโดย ธปท.ตามระบบเศรษฐกิจปกติ เพียงแต่มันอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดังที่ “จันทวรรณ สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. อธิบายเพิ่มเติมกับสื่อมวลชนว่า

 

"เป็นการใช้เงินบาทในรูปดิจิทัล เพราะฉะนั้นจะมีค่าเท่ากับเงินบาทที่เป็นธนบัตร เพียงแต่ในรูปดิจิทัล สามารถจะเขียนสัญญา Smart contract ให้ทำอย่างอื่น execute functions อื่นๆ ได้ด้วยในการสั่งซื้อขายสินค้าจากคู่ค้า ซัพพลายเออร์"  

 

#โครงการที่ประกาศออกมานี้ มันต่างจากโครงการอินทนนท์อย่างไร?

 

คำตอบคือ แตกต่างตรงที่ “มันเป็นจุดเริ่มต้นของการทดสอบใช้เงินบาทดิจิทัล ในการชำระเงินระหว่างธนาคารกับภาคธุรกิจ ต่างจากโครงการอินทนนท์ที่ใช้ระหว่างธนาคารกับธนาคาร” ดังนั้น จึงนับได้ว่าเป็นการเชื่อมต่อระบบการชำระเงินโดยใช้ CBDC ลงสู่ภาคเอกชนเป็นครั้งแรก ซึ่งการเชื่อมต่อลงมาในระดับเอกชน (และระดับประชาชนทั่วไป) จะเข้าข่าย Retail CBDC ซึ่ง Retail CBDC ที่ดังที่สุดในโลกตอนนี้ก็คือ "หยวนดิจิทัล" (ยังไม่ออกใช้จริง แต่ทดลองใน 4 เมือง)   

 

 

#วงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย คิดเห็นอย่างไรกับความเคลื่อนไหว ธปท.? 

“กวิน พงษ์พันธ์เดชา” ซีอีโอ บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (BITAZZA) เผยว่า ในหลายร้อยปีที่ผ่านมาโลกได้มีการเปลี่ยนสกุลเงินหลักของโลกอยู่หลายครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สกุลเงินของประเทศที่ถือว่าเป็นมหาอำนาจในสมัยนั้น เช่น สกุลกิลเดอร์ของจักรวรรติดัตช์ ในช่วงปี 1600-1750 สกุลปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักรในช่วงปี 1750-1945 และสกุลดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าโลกหลังจากนี้ มีโอกาสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการเงินที่สกุลหยวนของจีนจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก โดยธนาคารกลางของประเทศจีนเอง มองเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชน และได้ร่วมกับหลายหน่วยงานพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง (DCEP) ออกมาในปี 2020 

ทั้งนี้ หากจีนทำสำเร็จ จะทำให้สกุลหยวนมีความคล่องตัวสูง และเหมาะสำหรับเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมในโลกดิจิทัล และหากมีคนเริ่มใช้ DCEP และเกิดการยอมรับในวงกว้าง อาจทำให้บางประเทศสูญเสียอธิปไตยทางการเงินเลยก็เป็นได้ 

“การที่ ธปท. ออกเงินดิจิทัลบาทมาเป็นเรื่องที่จำเป็น หากประเทศไทยต้องการมีส่วนแบ่งการตลาดของธุรกรรมในโลกออนไลน์ สมมติว่าเงินดิจิทัลหยวนเป็นที่ยอมรับในหมู่คนไทยขึ้นมาและมีกระเป๋าเงินที่สามารถใช้รับ DCEP ได้อย่างแพร่หลาย ถ้าธุรกิจในไทยเกิดเริ่มใช้ DCEP ขึ้นมาแล้วประเทศไทยไม่มีเงินดิจิทัลของตัวเอง ก็อาจจะทำให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมเงินในประเทศตัวเองได้” กวิน กล่าว 

"กวิน" กล่าวต่อว่า CBDC ของไทยนั้นยังเป็นเงินบาทอยู่ ถึงแม้จะเป็นสกุลเงินดิจิทัล แต่ก็เป็นสกุลเงินที่มีการรวมศูนย์ และถูกควบคุมโดย ธปท. อย่างเด็ดขาด จึงไม่เหมือนกับคริปโทเคอร์เรนซี อย่างบิทคอยน์ ซึ่งมีการกระจายศูนย์ เพราะเหตุนี้ ส่วนตัวเขาจึงมองว่าดิจิทัลบาท ไม่ได้จะมาแทนที่บิตคอยน์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค

“แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ เงินบาทในรูปแบบดิจิทัลจะกลายเป็น programmable money หรือเงินที่มีความสามารถในการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ เพื่อทำธุรกรรมที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง และมาพร้อมกับความมั่นคงของราคา”  

 

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าเงินจะมีการรวมศูนย์อยู่ แต่ธุรกรรมบางประเภทจะสามารถทำได้โดยไม่มีคนกลางแบบดั้งเดิม จึงมองว่าความสามารถนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเงินไทย และสามารถมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ Retail CBDC เกิดขึ้นได้ และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นอยู่ว่า ธปท. จะควบคุมการเข้าถึงของการเขียน smart contract แค่ไหน หากเปิดกว้างให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะ startup สามารถมาร่วมพัฒนาได้ (ไม่ใช่แค่รายใหญ่อย่างเดียว) จะเกิดการแข่งขันขึ้นและมีโอกาสสร้างอุตสาหกรรม Fintech ในไทยให้เติบโตยิ่งกว่าเดิมได้หลายเท่า”  กวิน ระบุ

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ซีอีโอกลุ่ม กลุ่มบิทคับ (BITKUB) กล่าวว่า แม้จะยังไม่มีรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ เช่น จะใช้เทคโนโลยีตัวไหน จะใช้บล็อกเชนของอะไร และจะแก้ไขปัญหาเรื่องความสามารถในการปรับขยาย (Scalability) อย่างไร แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมากจาก ธปท.ที่แสดงให้เห็นว่า ธปท.มีการปรับตัวและผลักดันเรื่องนวัตกรรม เรื่องของเงินในประเทศ เหมือนกับธนาคารกลางหลายๆ แห่งทั่วโลก ที่อยู่ในจุดที่กำลังสำรวจและค้นคว้าวิจัยกันอยู่  

“จิรายุส” วิเคราะห์ต่อว่า Retail CBDC ของไทย น่าจะออกมาในรูปแบบของ 2-Tier System คือ ธปท.เป็นผู้ผลิตเหรียญและกระจายเหรียญผ่านธนาคารพาณิชย์ เพราะหากเปิดให้ประชาชนเข้าถึงเหรียญกับ ธปท. โดยตรงจะเท่ากับเป็นการตัดบทบาทของธนาคารพาณิชย์ออกไปในทันที  ซึ่งอาจจะกระทบกับเสถียรภาพระบบการเงิน     

สำหรับข้อดีของเงินบาทในรูปแบบดิจิทัล “จิรายุส” มองว่า เป็นการ เพิ่มลูกเล่นให้กับภาคเอกชน ที่จะสามารถเล่นกับเงินได้มากกว่าเพียงแค่ยื่นธนบัตรให้กัน เพราะเงินในรูปแบบของดิจิทัลจะมีสิ่งที่เรียกว่า programmable money หรือ smart contract ที่สามารถสร้างแอปพลิเคชันบนบาทดิจิทัลได้ แล้วก็สร้างเป็น Financial Application แบบใหม่

 

“พอมันเป็นดิจิทัลแล้ว คนซื้อคนขายก็สามารถสร้างพวก smart contract ใส่ conditions อะไรเข้าไปได้มากกว่าเงินกระดาษ ซึ่งเงินกระดาษมันใส่ smart contract หรือ programmable ไม่ได้ ดังนั้น มันก็จะมีลูกเล่นมากขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำฟังก์ชันได้หลายอย่างระหว่างซัพพลายเออร์กับคู่ค้า”  จิรายุส กล่าว  

ข้อดีอีกประการคือ ช่วยลดต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ ในแง่ของการขนส่งธนลัตรและการพิมพ์ธนบัตร และเรื่องของ Deadweight Loss หรือความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น การหลบเลี่ยงจ่ายภาษี การฟอกเงิน ทำให้มีเงินส่วนหนึ่งที่สูญไปจากจีดีพี ซึ่งถ้าหากเป็นดิจิทัลหมดจะทำให้การหลบเลี่ยงภาษีและการฟอกเงินทำได้ยากขึ้น จีดีพีก็จะเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนในการสูญเสียลดลง นอกจากนี้ก็ชวยลดปัญหาเงินปลอม เพราะถ้าเงินอยู่บนบล็อกเชนจะไม่สามารถโกงได้ เนื่องจากสามารถตรวจสอบได้บนระบบบล็อกเชน    

ขณะเดียวกันการหมุนของเงินจะเร็วขึ้น หากเป็นเงินกระดาษอาจจะหมุนเวียนได้ช้า แต่ถ้าเงินดิจิทัลจะเกิดรอบได้เร็วกว่าซึ่งจะช่วยเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศได้ 

ด้านความเสี่ยง ก็จะเป็นในมุมของการโจรกรรมทางไซเบอร์ ดังนั้นธนาคารจะต้องมีระบบเก็บเงินดิจิทัลที่มีความปลอดภัย เพราะเงินอยู่ในโทรศัพท์มือถือจะเก็บเท่าไหร่ก็ได้ หากโดนแฮ็กเท่ากับว่าเงินที่มีในวอลเล็ตหายหมด

“ปรมินทร์ อินโสม” ซีอีโอ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น (SATANG) และยังเป็นผู้ก่อตั้งคริปโทเคอร์เรนซีระดับโลก Zcoin กล่าวถึง โครงการของ ธปท.ที่ได้เลือก SCC เป็นเอกชนรายแรกเข้าร่วมทดสอบว่า กลุ่มปูนต์ซิเมนต์ไทยมีซัพพลายเชนที่ใหญ่มากและการหมุนเวียนของเงินส่วนใหญ่ก็อยู่ในระบบนิเวศน์ของ SCC อยู่แล้วแทบจะไม่ได้ออกไปนอกซัพพลายเชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ ธปท.จะเลือก SCC เป็นบริษัทเอกชนที่นำร่องทดสอบระบบการชำระเงินด้วย CBDC 

        

"ส่วนตัวผมตอนแรกคิดว่า SCC จะทำสเตเบิ้ลคอยน์ใช้เองในระบบ แต่พอทราบข่าวว่าเขาตัดสินใจใช้ CBDC ที่ออกโดยแบงก์ชาติก็เลยเซอร์ไพรซ์นิดนึง...มองว่าพอเขา (SCC) ใช้แล้ว มันก็น่าจะนำร่องให้ทุกคนใช้ตามได้...พอมีข่าวนี้ออกมาก็น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้หลายๆ หน่วยงานเข้ามาดูครับ"      

 

ขณะเดียวกัน ด้วยซัพพลายเชนของ SCC ที่มีในต่างประเทศ ปรมินทร์ มองว่า ก็น่าจะช่วยให้ทาง ธปท.ได้เรียนรู้กรณีการใช้งานจริงของการ settle ระหว่างประเทศด้วย 

 

"ผมมองว่าพอแบงก์ชาตินำ CBDC ใช้กับ SCC แล้วทาง SCC มีบริษัทในต่างประเทศด้วย นั่นหมายความว่า สุดท้ายแล้วถ้ามันจะต้องมีการ settle กันระหว่างประเทศ การใช้ CBDC มันก็น่าจะเป็นกรณีการใช้งาน ที่ทางแบงก์ชาติก็ได้เรียนรู้ตรงนี้ไปด้วยว่าจะจัดการอย่างไรต่อ"  

“พลากร ยอดชมญาณ” ซีอีโอ บริษัท ซาโตชิ จำกัด (KULAP) บริษัทน้องใหม่ป้ายแดง ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจาก ก.ล.ต. มองว่าในอนาคตหาก ธปท. สามารถพัฒนาเงินบาทดิจิทัลให้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริงในระดับประชาชน จะเป็นการเปลี่ยนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ และเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น  

 

“บาทดิจิทัล มันจะทำให้ต้นทุนทางการเงินแบบเดิมลดต่ำลงมาก อย่างร้านค้ารับบัตรเครดิตมีต้นทุน 2-3% ถ้าเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งมีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง มันจะทำให้การแลกเปลี่ยนมีต้นทุนต่ำ ดังนั้น จะเป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน” พลากร ระบุ

         

“พอขยายมาเฟสเอกชน ผมว่ามันเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทเอกชนด้วย และตามหลักถ้าเปิดให้บริษัทเอกชน ก็ควรจะเปิดให้บริษัทเอกชนขนาดเล็กๆ ด้วย เพราะว่ามันไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย  ที่บริษัทเล็กเข้าไปร่วม เพราะว่าผู้ใช้งานเป็นคนถือเงิน แต่บริษัทเล็กๆ ที่เข้าไปร่วมมีส่วนได้ส่วนเสียคือ เขาก็อาจจะรับเป็นเงินบาทดิจิทัลได้ เช่น ร้านค้าเขาก็จะได้รับเป็นเงินบาทดิจิทัล คืออยู่ๆ  เขาจะรับเงินบาทดิจิทัลเลยไม่ได้ เขาต้อง Join เข้ามาในระบบบล็อกเชนก่อน”  


ซีอีโอ KULAB ยังเปิดเผยถึงมุมมองเขาในหมวกอีกใบที่เป็น "นักพัฒนา" (Developer) ว่าการมาของบาทดิจิทัล หาก ธปท.เปิดให้นักพัฒนาไทยเข้าไปช่วยพัฒนาระบบ คือ ธปท.ต้องเปิดเป็น Open Platform ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะยิ่งทำให้ระบบนิเวศน์ทางด้านการเงินเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเงินบาทดิจิทัลจะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเงินใหม่  ซึ่งมันกำลังจะฉายภาพไปสู่โลกของ Decentralized Finance (DeFi) หรือระบบการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่ไม่ต้องมีคนกลาง โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และความสามารถของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) 

“ยกตัวอย่างเช่นระบบการกู้ยืมแบบปกติ เวลาเราจะซื้อคอนโด ต้องทำเรื่องกู้เงินแล้วก็รอเป็นเดือน เอกสารกระดาษอีกมากมายที่จะต้องใช้ ในอนาคตพวกนี้จะถูกตัดออกไปหมดเลย แล้วทุกอย่างจะเป็นอัตโนมัติเพราะมันเป็น Coding ”  

 

 

*โดยสรุปสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นทิศทางของโลกในอนาคตที่มันได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน แม้จะยังคงเป็นเพียงแค่โปรเจกต์ทดลอง อย่างโครงการอินทนนท์ก็เป็นการยืนยันแนวคิดของโครงการว่า DLT นั้นมีประสิทธิภาพจริง ลดต้นทุนได้จริง (Proof of Concept) แต่ก็ยังไม่ได้นำมาใช้ทดแทนระบบการชำระเงินมูลค่าสูงระหว่างธนาคารแบบเดิมแต่อย่างใด ส่วนการทดลอง Retail CBDC นี้ก็ยังคงอีกยาวไกลกว่าจะเกิดการนำมาใช้ในระดับประชาชนจริงๆ 

 

**แต่อย่างน้อย...ความเคลื่อนไหวของ ธปท.ที่ผ่านมา และล่าสุดกับการเชื่อมต่อระบบการชำระเงินโดยการใช้ CBDC ลงสู่ภาคเอกชนในครั้งนี้ ทำให้เห็นวิสัยทัศน์ของธนาคารกลางไทย ที่ไม่ได้ล่าช้าไปกว่าประเทศอื่นๆ  และเมื่อวันที่ระบบการเงินโลกเปลี่ยน ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เพราะได้อุ่นเครื่องระบบบาทดิจิทัลไว้รอแล้ว และจะต้องศึกษาและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยี ซึ่งเรื่องราวของ CBDC ได้ถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งใน แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (63-65) ของแบงก์ชาตินั่นคือ การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) และการทำให้ระบบสามารถเชื่อมโยงกับธนาคารกลางประเทศอื่น รวมถึงการเชื่อมต่อให้ภาคเอกชนนำไปใช้งานได้จริง  


----------------------------

อ้างอิง : 

-แบงก์ชาติ ลุย "อินทนนท์" เฟส 3 ทดสอบโอน CBDC ข้ามประเทศ 

-ธปท.เผย อินทนนท์เฟส3 โอนสกุลเงินดิจิทัลข้ามประเทศได้แบบเรียลไทม์

-Suthichai Live : ดิจิตอลหยวน ดิจิตอลบาท

-บริการทางการเงินดิจิทัลและนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย

Let's block ads! (Why?)



"พิเศษ" - Google News
June 19, 2020 at 07:00PM
https://ift.tt/37Mgogb

รายงานพิเศษ : บาทดิจิทัล..อัศวินม้าขาวปกป้องอธิปไตยการเงิน - efinanceThai
"พิเศษ" - Google News
https://ift.tt/2SQyCqt
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dm7zLA

Bagikan Berita Ini

0 Response to "รายงานพิเศษ : บาทดิจิทัล..อัศวินม้าขาวปกป้องอธิปไตยการเงิน - efinanceThai"

Post a Comment

Powered by Blogger.