อนาคตของบริษัทอเมริกันในฮ่องกงตกอยู่ในความไม่แน่นอน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของฮ่องกง
นายทรัมป์ กล่าวว่า "ฮ่องกงจะได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่"
นอกจากนี้เขายังลงนามในกฎหมายที่จะบังคับใช้การคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่ทางการจีนที่ควบคุมสิทธิ์ต่าง ๆ ในฮ่องกงด้วย โดยมาตรการเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกงเมื่อเดือนที่แล้ว
สหรัฐฯ เห็นว่า กฎหมายความมั่นคงนี้เป็นภัยคุกคามเสรีภาพที่ฮ่องกงได้รับภายใต้ข้อตกลงในปี 1984 ที่จีนและสหราชอาณาจักร อดีตเจ้าอาณานิคมของฮ่องกงลงนามกัน ก่อนที่จะมีการส่งมอบอธิปไตยของฮ่องกงคืนให้แก่รัฐบาลจีนในปี 1997
ด้านจีนวิพากษ์วิจารณ์การทำเช่นนี้ของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง และให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตอบโต้
ทรัมป์บอกว่าอะไร
นายทรัมป์กล่าวที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารว่า คำสั่งทางการบริหารของเขาจะทำให้สิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับฮ่องกงยุติลง
"ไม่มีสิทธิพิเศษ ไม่มีการปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่พิเศษ และไม่มีการส่งเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนไปให้" นายทรัมป์กล่าว โดยเขาประกาศเป็นครั้งแรกในเดือน พ.ค. ว่า รัฐบาลของเขาจะเริ่มลดทอนสถานะพิเศษของฮ่องกงลง
เขายังบอกกับนักข่าวด้วยว่า เขาได้ลงนามในรัฐบัญญัติปกครองตนเองของฮ่องกง (Hong Kong Autonomy Act) ซึ่งผ่านการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในสภาคองเกรสในเดือนนี้
"กฎหมายนี้ จะทำให้รัฐบาลของผมมีเครื่องมือใหม่ในการจัดการกับบุคคลและผู้แทนที่มีส่วนในการทำลายเสรีภาพของฮ่องกง" นายทรัมป์ กล่าวในงานแถลงข่าว
จีนตอบโต้อย่างไร
กระทรวงต่างประเทศจีน ประณามท่าทีล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยระบุว่า เป็น "การแทรกแซงอย่างไม่อาจยอมรับได้" ในกิจการภายในของจีน
ในแถลงการณ์ที่มีการใช้ถ้อยคำรุนแรง กระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า จีนจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับบุคคลและผู้แทนของสหรัฐฯ เพื่อ "ปกป้องผลประโยชน์โดยชอบธรรมของจีน"
"ความพยายามของสหรัฐฯ ในการขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงจะไม่ประสบผลสำเร็จ" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ
"เราขอให้ฝ่ายสหรัฐฯ แก้ไขในสิ่งที่ทำผิดพลาด งดเว้นการบังคับใช้รัฐบัญญัติดังกล่าว และยุติการแทรกแซงกิจการภายในของจีนในทุกวิถีทาง จีนจะตอบโต้อย่างแน่นอนถ้าสหรัฐฯ เดินหน้าต่อไป"
ฮ่องกงยังน่าดึงดูดไหม
หลังจากที่ฮ่องกงสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าที่ได้รับจากสหรัฐฯไป บริษัทที่ไม่ใช่ของจีนต้องประเมินว่าจะดำเนินการในฮ่องกงต่อไปหรือไม่
แม้ว่าความตึงเครียดที่มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะทำให้ฮ่องกงมีความน่าดึงดูดน้อยลงในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็มีอีกหลายเหตุผลที่ฮ่องกงยังคงเป็นเมืองยอดนิยมในการมาทำธุรกิจของชาวต่างชาติ
ศูนย์กลางเอเชีย
บริษัทของชาติตะวันตกหลายแห่ง เลือกใช้ฮ่องกงเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค ซึ่งดูแลพื้นที่ครอบคลุมหลายประเทศรวมถึงจีน, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และอินเดีย
ปัจจุบันมีธุรกิจต่างชาติมากกว่า 1,500 บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียอยู่ในฮ่องกง ในจำนวนนี้ราว 300 บริษัทเป็นของสหรัฐฯ
บริษัทอเมริกัน
จากการสำรวจประจำปี 2019 เกี่ยวกับบริษัทที่ดำเนินการอยู่ในฮ่องกง แต่มีบริษัทแม่อยู่นอกฮ่องกง พบว่า มีบริษัทของจีนแผ่นดินใหญ่และต่างชาติมากกว่า 9,000 แห่งดำเนินการอยู่ในฮ่องกง โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ระหว่างปี 2017 และปีที่แล้ว ในจำนวนนี้มากกว่า 1,300 บริษัทเป็นของสหรัฐฯ และมีชาวอเมริกันอาศัยอยู่ในฮ่องกงราว 85,000 คน
ตลาดหุ้น
ฮ่องกงเป็นหนึ่งศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก ตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกงมีมูลค่า 37.9 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 152 ล้านล้านบาท) จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
ตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกงระบุว่า ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 16% จากปีที่แล้ว
โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offerings--IPOs) สามารถระดมเงินทุนได้ 8.75 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนกว่า 20%
การลงทุน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment—FDI) ในปีที่แล้วของฮ่องกงลดต่ำลงอย่างมาก
จากหน่วยงานสังเกตการณ์แนวโน้มการลงทุนของสหประชาชาติ FDI ในฮ่องกงลดลง 48% ในปี 2019
ตรงข้ามกับคู่แข่งศูนย์กลางการเมืองของเอเชียอย่างสิงคโปร์ ที่มี FDI ในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 42%
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แนะนำให้ผู้นำธุรกิจระมัดระวังในการตัดสินใจและรอดูสถานการณ์ไปก่อน
เคนต์ เค็ดเดิล จากบริษัทที่ปรึกษาคอนโทรล ริสก์ส (Control Risks) ในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน กล่าวกับบีบีซีว่า "เราบอกให้ลูกค้ารอดูสถานการณ์ไปก่อน เรายังไม่มีรายละเอียด และเรื่องนี้ยังคลุมเครือ นี่ไม่ใช่เวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร"
แม้ว่าคำพูดของทรัมป์ยังไม่เผยถึงรายละเอียดมากนัก และบริษัทต่าง ๆ ก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อคำพูดของเขา แต่ก็ยังไม่ใช่เวลาที่จะตัดสินใจถอนตัวออกไปจากฮ่องกง
นิวยอร์กไทมส์ย้ายพนักงานบางส่วน
ด้านนิวยอร์กไทมส์ สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จะย้ายพนักงานบางส่วนออกจากฮ่องกงไปประจำที่กรุงโซลของเกาหลีใต้ เพราะความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่มีความรุนแรงในฮ่องกง
นิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า กฎหมายนี้ "ทำให้องค์กรสื่อไม่มั่นคงและสร้างความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของการเป็นศูนย์กลางด้านสื่อสารมวลชนของฮ่องกง"
ผู้สื่อข่าวจะยังคงทำงานอยู่ในฮ่องกง แต่พนักงานในฝ่ายตัดต่อดิจิทัลจะย้ายออกไป ทางนิวยอร์กไทมส์ไม่ได้เปิดเผยถึงจำนวนที่แน่ชัด แต่ระบุว่า ราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด
อารี ไอแซ็กแมน เบวากวา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของนิวยอร์กไทมส์ กล่าวกับ บีบีซี ว่า "เราจะคงจำนวนพนักงานจำนวนมากไว้ในฮ่องกง และมีความตั้งใจที่จะรายงานข่าวในฮ่องกงและจีนต่อไป"
สาระสำคัญของ กม. ความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกงที่มีความครอบคลุมกว้างขวาง ประกอบด้วย:
- ทำให้ "การยั่วยุให้เกลียดชัง" รัฐบาลกลางของจีน และรัฐบาลส่วนภูมิภาคฮ่องกง เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
- อนุญาตให้มีการไต่สวนอย่างเป็นความลับ ดักฟังผู้ต้องสงสัย และผู้ต้องสงสัยมีโอกาสที่จะถูกไต่สวนคดีในจีนแผ่นดินใหญ่
- อนุญาตให้พิจารณาการกระทำหลายอย่างรวมถึง การทำลายทรัพย์สินของระบบขนส่งสาธารณะว่าเป็นการก่อการร้าย
- กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องส่งมอบข้อมูล ถ้าตำรวจร้องขอ
"พิเศษ" - Google News
July 15, 2020 at 08:30PM
https://ift.tt/30gRjX4
ฮ่องกงยังน่าดึงดูดใจหรือไม่ เมื่อไร้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯ - บีบีซีไทย
"พิเศษ" - Google News
https://ift.tt/2SQyCqt
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dm7zLA
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ฮ่องกงยังน่าดึงดูดใจหรือไม่ เมื่อไร้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐฯ - บีบีซีไทย"
Post a Comment