ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | อธิษฐาน จันทร์กลม |
เผยแพร่ |
ถนนราชดำเนินวันนี้ มีผู้คนหลากหลายวัยหลั่งไหลมาร่วมกู่ก้องร้องหาประชาธิปไตยอย่างไม่ลดละ
ไม่ว่าจะ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” (FreeYouth) จับมือ “สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย” พามวลชนคนหนุ่มสาวลงถนน ไม่ทนอีกต่อไป
ยื่นคำขาด หนึ่ง เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศ “ยุบสภา” สอง “หยุดคุกคามประชาชน” ในการทำกิจกรรม สาม “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” หวังขจัดต้นตอปัญหา ขอเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ ถอนรากโคนเผด็จการให้พินาศ สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในยุคสมัยของพวกเขา
ให้เรื่องเลวร้ายทั้งหมด #จบในรุ่นของเรา
3 ข้อเสนอ 3 นิ้วที่ชู เหล่านี้ คือฉันทามติที่ถูกจุดติดและส่งต่อจากปลายไม้ขีดไฟ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทุกภาคส่วนของประเทศ โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นยานพาหนะ
ท่ามกลาง “ถนนสายประชาธิปไตย” ที่หลายสาขาอาชีพมาร่วมแสดงเจตจำนงโดยใช้ดนตรี และ วลี ขับเคลื่อนอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการ
ไม่เว้นแม้แต่แวดวงน้ำหมึก อย่าง “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ก็ยังร่วมโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “Solidality with the Free Youth Movement of Thailand” อันมีความหมายว่า ขอยืนเคียงข้างการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน
น่าแปลกใจ ในขณะเดียวกันกลับมีอีกหลายชีวิตที่ทำให้ชื่อ ‘ซีไรต์’ มัวหมองด้วยมุมมองที่ย้อนแย้งกับความเห็นของคนส่วนใหญ่ ด้วยการมีแนวคิดที่ว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นเพียง “ม็อบมุ้งมิ้ง” ที่ออกมาดิ้นเท่านั้น
ซึ่งก็น่าจับตา เพราะม็อบมุ้งมิ้งครั้งนี้จะมีลูก 3 พระจอมมาเป็นการ์ด คอยพิทักษ์เม็ดทรายที่มาถมกายปูทางสายใหม่ให้มวลชนคนรุ่นหลัง
คือ ถนนเส้นที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ในหลากหลายความหมาย
121 ปี ของถนนราชดำเนิน มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย แต่หลายปีมานี้เห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชีวิตคนสามัญธรรมดาขนาบสองข้างถนน ซึ่งไม่ค่อยถูกพูดถึง
“มิวเซียม สยาม” จึงชวนจดจำรำลึก ผ่าน ล่อง รอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย ที่จะพาล่องเข้าไปในรอยความทรงจำของคนที่แตกต่าง ในหลากเจเนอเรชั่น ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-7 กันยายนนี้
บาหยัน อิ่มสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ รั้วศิลปากร คือผู้รับหน้าที่เป็น “ภัณฑารักษ์วัยเก๋า” ร่วมบอกเล่าความทรงจำของถนนราชดำเนินผ่านมุมวรรณกรรม
ทั้งยังร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัว ผ่านเสวนา “ถนนราชดำเนิน ในวรรณกรรม กลางเลนส์ นอกประวัติศาสตร์ไทย” เมื่อไม่นานมานี้
บาหยัน บอกเล่าว่า ตนรู้จักราชดำเนินจากลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งซึ่งเดินทางกลับมาบ้านพร้อมด้วยเสื้อผ้าที่เปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่น เพราะเพิ่งผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แล้วได้เก็บเอาลูกกระสุนของรถถังในเหตุการณ์วันนั้นมาด้วย
โดย ปี 2517 ตนได้เข้ามาเรียนมัธยมที่กรุงเทพฯ อาศัยแผงขายหนังสือสนามหลวง หาข้อสอบเก่ามาติวด้วยตัวเองให้ทันกับเพื่อนที่เรียนพิเศษ ได้ไปเที่ยวตลาดนัดสนามหลวงในช่วงรอยต่อที่กำลังจะย้ายไปจตุจักร
เมื่อโตขึ้นเข้ามหาวิทยาลัยก็รับรู้ราชดำเนินผ่านการเมือง ทุกครั้งที่มีการชุมนุมใหญ่ มักจะมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง วันแรงงานจะมีริ้วขบวนเดินจากราชดำเนินไปยังท้องสนามหลวง เป็นวันที่คึกคักมาก
อีกทั้งยังได้เข้าร่วมเหตุการณ์พฤษภา 35 ไปอยู่บริเวณลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ หลบลูกกระสุนปืน ในเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 พร้อมกับ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
“เวลาที่เราพูดถึงราชดำเนินระยะหลัง จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จะเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราได้เห็นการรวมกลุ่มชุมนุม ได้เห็นสัญลักษณ์อย่างอนุสาวรีย์
ในรายละเอียดของชีวิตคนสามัญ ก็ถูกบันทึกด้วยตัวอักษรผ่านจินตภาพของนักเขียนสตรี อย่าง สุวรรณี สุคนธา เจ้าของผลงานงาน เขาชื่อกานต์, ทองประกายแสด, อีพริ้งคนเริงเมือง, น้ำพุ ซึ่งในยุคนั้นมีไม่กี่คนที่จะมานั่งเขียนชีวิตของคนธรรมดาอย่างเจาะลึก
อ.บาหยันจึงขอแนะนำหนังสือ 2 เล่มจบ เป็นเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า ถนนสายรมณีย์ ซึ่งมีราชดำเนินเป็นฉากหลัง ในยุคที่ก่อนอาคาร-บ้านไม้จะกลายเป็นตึก
แม้ไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่ากับเล่มอื่นๆ ไม่เคยถูกทำเป็นละคร หรือภาพยนตร์ หากแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สามัญชนอย่างยิ่ง
“ปกติเวลาเราพูดถึงราชดำเนินมักจะโฟกัสไปที่การเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และในฐานะพื้นที่สาธารณะสำหรับเฉลิมฉลอง จัดงานพระราชพิธี สำหรับคนสัญจรไปมา จะเห็นความยิ่งใหญ่ของถนนสายนี้ แต่กลับพบว่าสิ่งที่ขาดหายไป คือชีวิตคนที่อาศัยอยู่สองฟากฝั่ง เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังของอาคารที่ใหญ่โตนั้นมีใครอาศัยอยู่บ้าง และคนเหล่านั้นมาจากไหน มีชีวิตอย่างไร ปริศนาเหล่านี้ สุวรรณีได้ช่วยทำให้เราเข้าถึงและตามร่องรอยนี้ได้”
บาหยันเล่าว่า ส่วนตัวเมื่อได้อ่าน “ถนนสายรมณีย์” และลองเดินไปตามถนนราชดำเนิน ก็พบว่ายังมีร่องรอยของคฤหาสน์และบ้านเก่า ขณะเดียวกันก็มีร่องรอยของบ้านเล็ก ชุมชนน้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ บางบ้านร้าง บางบ้านรีโนเวตเป็นภัตตาคารหรือคาเฟ่ย้อนยุค เช่น บ้านขนมปังขิง บ้านวรรณโกวิท หรือ บ้านยาหอม เป็นบ้านของผู้ดี-ขุนนางเก่า
“ถนนสายรมณีย์ ได้บันทึกชีวิตของขุนนางเก่าเหล่านี้ในช่วงเวลาหลัง 2475-2500 ขณะเดียวกันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านตัวละครในเรื่อง
“นวนิยายเรื่องนี้คล้ายเรื่อง ‘หลายชีวิต’ ของคึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นการเอาชีวิตของคนธรรมดามารวมๆ กัน ผ่านสายตาของ แขก หรือ ‘ตะวัน’ ซึ่งค้นดู ก็น่าจะเป็นสามีของสุวรรณี ชื่อ ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต เป็นผู้ให้ข้อมูล น่าจะมีชีวิตอยู่บนถนนราชดำเนินตั้งแต่เด็กจนเจริญวัย ผูกพันกับท้องถิ่นนี้มาเป็นเวลายาวนาน โดยสุวรรณีใช้สำนวน ลีลาภาษาที่ได้รับการยกย่องว่าพลิ้วไหว ฉายให้เห็นภาพในจินตนาการอย่างกระจ่าง นำเรื่องราวของหลายชีวิตมาผูกได้อย่างมีรสชาติ” บาหยันเล่า
ก่อนจะหยิบยกบางตัวละครในเรื่องมาพูดถึง ซึ่งทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่าสังคมในยุคนั้นมีความแปรเปลี่ยนไปอย่างไร
เริ่มที่ รำเพย ลูกเมียน้อยที่เป็นคนใช้อยู่ในบ้านคุณพระ ช่วงที่มีสถานะตกต่ำจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ระบบรัฐศักดินาแบบเดิมเริ่มสิ้นสุดลงไป และเข้าสู่ระบบใหม่
แม้รำเพยจะได้เรียนหนังสือ แต่ถูกเลี้ยงอย่างทิ้งขว้าง ชีวิตของรำเพย จึงเรียนรู้อะไรโดยใช้ร่างกายของตัวเองเข้าสัมผัส
“ในที่สุดเรียนไม่จบ หนีตามผู้ชาย สุดท้ายกลับมาที่บ้านเช่าหลังถนนราชดำเนิน ไม่ได้ทำการงานอะไร นอกจากนั่งหยัดแขนอยู่บนระเบียงและคอยมองผู้ชายที่ผ่านไปผ่านมา ชีวิตรำเพยอธิบายได้ถึง ‘สถานะทางสังคมที่เปลี่ยนไป’
คุณหลวงที่มีลูกจำนวนมาก ไม่สามารถมีทรัพย์สิน มรดกเพียงพอจะเลี้ยงลูกตนเองให้เติบโตก้าวหน้าได้ดีเท่าที่ควร ลูกที่เกิดเมื่อยามชราแล้วจะถูกเลี้ยงอย่างทิ้งขว้าง ไม่ได้รับการอบรมดูแล ต้องใช้สิ่งที่มีอยู่ อย่างร่างกายของตนเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์รอบตัว
“ชีวิตของรำเพยชี้ให้เห็นถึงความตกต่ำของสังคมหลังปี 2475 ที่ชนชั้นสูงถูกลดสถานะลง ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของชนชั้นอื่นๆ ให้เห็นด้วย”
เช่น ตัวละคร ครูอรชุมา เป็นครูของแขก (ผู้เล่าเรื่อง) สอนหนังสืออยู่ ร.ร.วัดราชนัดดา เช่าบ้านอยู่หลังห้างไทยนิยม มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งแขกหลงรักอย่างมาก
แต่ครูผู้นี้ไปรักกับครูพละที่มีคำหวานและหน้าตาอันหล่อเหลา ซึ่งครูพละกลับไปหลงรักคุณครูคนใหม่ ชื่อ ‘ครูพิมพา’ เป็นครูวาดเขียนที่สวยเก๋ ส่วนครูอรชุมาสวยน่ารักแบบเรียบร้อย
ปรากฏว่า ความสวยเก๋สามารถเอาชนะความสวยแบบจารีตไทยโบราณได้ ครูพละเปลี่ยนใจไปรักและแต่งงานกับครูพิมพา ครูอรชุมาก็ไปผูกคอตายบริเวณภูเขาทอง ซึ่งเดิมเป็นป่ารกร้างโดยทิ้งจดหมายไว้ว่า ขอตายเพราะผิดหวังกับความรัก และขอเอาลูกที่ติดท้องตามไปด้วย
ชีวิตต่อมา คือ ยายวอน ซึ่ง อ.บาหยันเล่าว่า เป็น “ศิลปินดองผักเสี้ยน” เพราะอยากดองก็ดอง ไม่อยากดองก็ไม่ดอง อาศัยศาลาวัดราชนัดดาอยู่ แต่มีฝีมือดองผักเสี้ยนอย่างมากขนาดได้รับยกย่องว่าดองแบบชาววัง
แต่เมื่อคนย้ายถิ่นมาย่านราชดำเนินมากขึ้น ยายวอนอยู่ศาลาวัดที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิดจึงถูกขโมยเข้าไปกระชากสร้อย ก็ต่อสู้และกำล็อกเกตไว้ในมือ สุดท้ายถูกฆ่าตาย
เมื่อเปิดล็อกเกตก็เห็นภาพถ่าย หญิงชาววัง ที่เคยมีอดีตอันหวานหอม สดใสรุ่งโรจน์ ใส่สร้อยไข่มุกยาว สวมแหวนเพชร ตรงกับตอนที่เมาเหล้าแล้วพลั้งเผลอเล่าว่าเป็นชาววัง มีผู้ชายมารุมจีบ
อ.บาหยันเล่าต่อไปว่า ส่วนเรื่องดีๆ ก็มี อย่าง หนุ่มอีสาน ชื่อว่า “ใส”
ในเวลานั้น ก่อนปี 2500 อีสานแล้ง เมืองเติบโต คนจึงอพยพเข้าเมือง
“ใส” มีอาชีพขี่สามล้อ โดยเช่าจากบ้านของแขก ซึ่งเป็นผู้ดีเก่าที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ แม้พ่อของแขกจะไม่ได้รับราชการแล้ว แต่ก็ยังปลูกบ้านให้คนเช่า มีสามล้อให้คนอีสานมาเช่าขี่
นายใสเป็นคนหนึ่งที่เก็บหอมรอมริบ แต่มีเงินจำนวนมากซ่อนอยู่ใต้เบาะ วันหนึ่งเขาเอาเงินไปขอซื้อสามล้อเก่ามาเป็นต้นทุนสำหรับการทำอาชีพ จนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จากขี่สามล้อ ก็ไปขับแท็กซี่เหลือง มีรถแท็กซี่ให้คนอื่นเช่า และก้าวไปสู่การเป็นนักธุรกิจอีกหลายสาขา
“เรื่องนี้จบลงท้ายด้วยข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ ตีพิมพ์ว่า นักศึกษาสาวสวยจากสหรัฐได้ตัดสินใจสละโสดกับพ่อเลี้ยงหนุ่มชาวอีสาน ชื่อ คำใส ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจหลายสาขา
ทำให้เห็นว่า สังคมหลัง 2475 เปิดโอกาส มีช่องให้คนได้เลื่อนระดับชั้นในสังคม ในขณะเดียวกันก็ลดโอกาสของชนชั้นสูง ให้มีความยากลำบาก
แม้สุวรรณีไม่ได้เขียนโดยตรง แต่เมื่ออ่านหนังสือทั้ง 2 เล่ม จะสัมผัสได้ถึงชีวิตของผู้คนที่เข้านอกออกในราชดำเนินมาโดยตลอด จากเป็นที่พักพิงชั่วคราวเพราะบ้านตนเองเกิดไฟไหม้หรือถูกไล่ที่ ก็กลายเป็นชุมชนขนาดเล็ก
ในขณะที่คฤหาสน์ใหญ่ ผู้ดีในราชดำเนินก็ทนความแออัดไม่ได้ จึงอพยพไปอยู่ฝั่งธนบุรี ทิ้งบ้านไว้เป็นบ้านเช่าบ้าง เก่ารกร้างบ้าง ซึ่งอธิบายอย่างชัดเจนและมีชีวิตชีวา” อ.บาหยันระบุ
คือวรรณกรรมกรชั้นดี ที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคม
“อธิบายความไม่หยุดนิ่งของผู้คนบนถนนราชดำเนินที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ไม่เคยเอะอะ หรือกระโตกกระตากให้ใครรับรู้ แต่สุวรรณีรับรู้และเขียนสิ่งเหล่านี้ไว้ในหนังสือ
เป็นแหล่งข้อมูลที่บันทึกชีวิตของผู้คนยุคหลัง 2475-2506 เอาไว้อย่างมีชีวิตชีวาและมีสีสันอย่างมาก”
เมื่อได้รับอาสาเป็นภัณฑารักษ์วัยเก๋า อ.บาหยัน จึงถือโอกาสเอาหนังสือเล่มนี้มาทำเป็นนิทรรศการ ผสานวัย โดยร่วมกับลูกสาวอายุ 17 ปี วาดภาพผ่านสื่อสมัยใหม่ แสดงภูมิทัศน์ของราชดำเนิน และใส่ข้อมูลชีวิตของผู้คนต่างๆ เป็นคิวอาร์โค้ด ซ่อนไว้ตามซอกตึก จุดต่างๆ เป็นเรื่องย่อเพื่อเผยแพร่ชีวิตของคนสามัญบนถนนราชดำเนิน
อ.บาหยัน ยังเล่าอีกว่า สุวรรณีจบท้ายด้วยตัวละครเอก ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี 2500 ว่า
“อนุสาวรีย์สร้างขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลอง ยืนแจ่มใสอยู่ในแดดรอน หลังยุคฉลอง 200 ปี เขาขึ้นไปยืนขัดและทาสีเสียใหม่ ก็ไม่สวย มันเป็นอนุสาวรีย์ที่ไม่เคยสวยมาแต่ไหนแต่ไร แต่มันก็เป็นของคู่บ้านคู่เมือง
และเมื่อผมมองดูทำให้นึกถึง ชาดา เธอเคยถามผมว่า
เขามีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกันทำไม ในเมื่อเรายังเป็นประชาธิปไตยกันอยู่นี่คะ”
คล้ายกับความเห็นของกลุ่มนักศึกษา ที่ว่า “ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการจัดสวนให้สวยสดจนต้องไปยืนชมความงดงาม”
ท่ามกลางการรื้อสร้างความหมาย ก็ได้มีการปักหมุดหมายใหม่ลงบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกครั้ง
"สามัญ" - Google News
July 24, 2020 at 01:00PM
https://ift.tt/30LpI0q
ราชดำเนินใน 'วรรณกรรม' วิถีสามัญชน บนความเปลี่ยนแปลง - มติชน
"สามัญ" - Google News
https://ift.tt/3fKFLCA
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dm7zLA
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ราชดำเนินใน 'วรรณกรรม' วิถีสามัญชน บนความเปลี่ยนแปลง - มติชน"
Post a Comment