8 กรกฎาคม 2563 | โดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
100
วิศวกรคนนี้ เลือกปลูก"เมล่อน"พันธุ์ญี่ปุ่น ที่ปลูกยาก ใช้เวลานาน และ"วาดรูปบนเมล่อน"ให้ในกรณีพิเศษ เมื่อจองไว้แล้ว ผลผลิตโตเต็มที่สามารถมาตัดเมล่อนที่ต้นได้เลย(สนุกตรงนี้แหละ)
“เป็นพืชที่ปลูกยากที่สุด ผมก็เลยอยากเอาชนะ คนอื่นเริ่มจากปลูกสายพันธุ์ง่ายที่สุด ผมเริ่มจากยากที่สุด เป็นความท้าทาย คนบอกว่า ปลูกไม่ได้ ผมก็ทำจนได้ ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยปลูกต้นไม้อะไรมาก่อน ” เนส-ยงสุวัฒน์ พรหมกิตติโชติ วิศวกร เจ้าของโรงเรียนดนตรีเอลิสท์ (A-Lists music School) จ.ชลบุรี เล่าถึงการปลูกเมล่อน เป็นงานอดิเรกในฟาร์มเล็กๆ MelonNezz (เมล่อนเนส) บนดาดฟ้าโรงเรียน
สองปีที่แล้ว เขาใช้เวลาทำสิ่งที่ชอบ นอกเหนือจากงานประจำก็คือ ปลูกเมล่อน เริ่มตั้งแต่หาสายพันธุ์ เพาะเมล็ด ผสมเกสร ให้น้ำ วาดลายบนเมล่อน(ถ้ามีคนขอมา) ตัดใบให้แสงผ่านถึงลูกเมล่อน และเปิดเพลงให้ต้นเมล่อนฟัง
เขาเรียนรู้การปลูกเมล่อนด้วยตัวเอง ทั้งจากอินเตอร์เน็ต ฟาร์มเมล่อนในเมืองไทยและต่างประเทศ จนเกิดความเชี่ยวชาญระดับหนึ่ง อาศัยว่า ร่ำเรียนวิศวกร คิดอย่างเป็นระบบ และรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ เแม้จะไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างรายได้ และลงทุนเยอะ แต่สร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้
ในช่วงฤดูฝนปีนี้ เขายังไม่ได้เริ่มเพาะเมล็ดเมล่อน คงจะเริ่มอีกครั้งในเดือนตุลาคม ผลผลิตจะออกต้นปีหน้า(ปีพ.ศ. 2564) ซึ่งคนที่จะได้กินเมล่อนที่เขาปลูก ต้องจองล่วงหน้า เนื่องจากขายให้กลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนในโรงเรียนก็หมดแล้ว เพราะปลูก 200 ต้น ได้ผลผลิตแค่ 200 ลูก
เหตุใดจึงมีผลผลิตแค่นั้น เพราะแต่ละต้น เขาเลือกที่จะเก็บลูกที่มีคุณภาพดีที่สุดไว้เพียงลูกเดียว
"ช่วงแรกที่เริ่มปลูก ต้องดูแลทุกวัน มีการจดสถิติว่า มันงอกออกมากี่ใบ มันชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่ตอนนี้สามวันขึ้นไปดูแลครั้งหนึ่ง ตัดแต่งต้นให้ไต่เชือก ผมเคยปลูกไว้ประมาณสิบสายพัน อย่างพันธุ์กราดิเอชั่น นำมาปั่นทานได้เลย หายากมาก ตอนนั้นผมปลูกไว้สิบต้น พันธุ์นี้คนปลูกน้อย เมล็ดพันธุ์ราคาสูง หนึ่งเมล็ด 25-30 บาท เนื้อสีส้ม เปลือกสวย หวานกรอบ หอม
ปัจจุบันผมปลูกแค่สองสายพันธุ์ คือ เมล่อนลายนูน ปลูกยากมาก ใช้เวลานาน เป็นพันธุ์เนื้อเขียวเรียก Yokubo Queen Gen2 และเนื้อส้ม Zubari King ส่วนพันธุ์ Crown Melon ไม่ได้ปลูกเพราะมีลิขสิทธิ์ คนญี่ปุ่นที่ปลูกไว้ไม่ปล่อยออกมา "
-1-
สำหรับเนสแล้ว เขาเลือกเมล่อนพันธุ์ญี่ปุ่น เพราะชอบเป็นการส่วนตัว ถ้าเป็นสายพันธุ์เด่นๆ จะไม่มีเมล็ดพันธุ์ขายในญี่ปุ่น แต่เขาก็สามารถปลูกไว้หลายสายพันธุ์ด้วยกัน อาทิ Kimoji,Yokubo, Furano,YoshidaF2 ฯลฯ และที่สุดลงตัวกับเมล่อนลายนูน (Musk Melon)
"ผมชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น เคยเช่ารถ ขับไปฮอกไกโดตามสวนและภูเขา เพราะรถไฟเข้าไม่ถึง และผมชอบกินเมล่อน ตอนไปฮอกไกโด เมล่อนขายเป็นซีกๆ ละ 100-300 บาท ถ้าขายเป็นลูกก็ประมาณ 1,000-3,000 บาท บางพันธุ์ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในเมืองไทย นำมาขายลูกละเกือบสามพันบาท
ผมเองก็อยู่ในกลุ่มคนปลูกเมล่อน ทำให้พบว่าส่วนใหญ่เปิดฟาร์มกันไม่นานก็ปิดฟาร์ม ผมก็พยายามหาต้นตอ ฟาร์มปลูกเมล่อนที่ไหนอยู่ได้นาน จนได้เจอเจ้าของฟาร์มที่หนองคาย ไปเรียนรู้ที่นั่นแล้วนำเรื่องปุ๋ยน้ำมาประยุกต์ รวมถึงไปดูตามฟาร์มเมล่อนในญี่ปุ่นด้วย
ผมเลือกปลูกสายพันธุ์ญี่ปุ่น เพราะต้องการความสวยของเปลือกเมล่อน เคยไปดูที่สวนเมล่อนในญี่ปุ่น เขาใช้ระบบฮีตเตอร์ ช่วยให้ระบบน้ำอุ่นขึ้น แต่บ้านเราอากาศร้อน เราจะทำยังไงก็ได้ให้น้ำรดเมล่อนเย็น ถ้าระบบรากร้อนไป ก็จะทำให้เสียหาย ไม่หอม ไม่หวาน ตายก่อนกำหนด หรือต้นไม่แข็งแรง”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เขาจึงนำเทคโนโลยี calibrate pH meter มาใช้ควบคุมค่า pH ของน้ำ เนื่องจากแต่ละสายพันธุ์ต้องการน้ำไม่เท่ากัน และขึ้นกับแสงแดดแต่ละวันด้วย ถ้า pH ต่ำกว่า 5.5 รากเสียหาย ถ้าสูงกว่า 6.5 รากดูดน้ำไปเลี้่ยงต้นได้น้อย ดังนั้นปริมาณน้ำที่พอเหมาะควรอยู่ที่ pH5.8-6.5 ปัจจุบันปรับการให้น้ำเป็น 1.2 ลิตรต่อต้นต่อวัน
“กว่าจะได้ผลผลิตเมล่อนจะใช้เวลาหนึ่งร้อยวัน ฟาร์มผมน่าจะเป็นแหล่งเดียวในประเทศที่ทำระบบนี้ ผมปลูกในมุ้งบนดาดฟ้า ถ้าไม่ปลูกในมุ้ง จะเจอแมลงตัวเล็กตัวน้อย เพราะทุกส่วนของต้นเมล่อนมีความหวาน เวลาติดเชื้อจะลามไปต้นอื่น ”
-2-
นอกจากนี้ยังมีกระบวนการตัดแต่งเปิดใบ เพื่อให้แสงส่องถึงผลเมล่อน สร้างเนื้อและลวดลาย เพราะบางสายพันธุ์มีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ เขาบอกว่า ลูกจะเบี้ยวจะกลมอยู่ในช่วงผสมเกสร ถ้าปล่อยตามธรรมชาติจะติดลูกเองยากมาก ถ้าไม่มีผึ้งหรือแมลงช่วยผสมเกสร เขาจึงเป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้เกสรตัวผู้เจอตัวเมีย
“ตอนเริ่มทำบนดาดฟ้า ผมต้องใช้รถเครนยกเหล็กและมุ้งมาที่ชั้นสี่ ต้นทุนสูงกว่าเกษตรกรทั่วไปที่ปลูกบนดิน พวกเขาจึงต้องใช้สารเคมีป้องกันแมลง ต้นทุนผมสูงแลกกับแมลงที่น้อย ผมใช้ปุ๋ยน้ำเป็นธาตุอาหาร ไม่ใส่ยาฆ่าแมลง ผมปลูกแล้วผมก็กินเองด้วย นักเรียนในโรงเรียนก็กิน เราไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ผมลงทุนไปสามสี่แสนบาท กว่าจะคืนทุนรวมๆ ห้าปี จริงๆ แล้วปลูกบนดินใช้เงินแค่แสนกว่าๆ บาท ผมทำแบบสมาร์ทฟาร์ม เพราะเมล่อนต้องการน้ำน้อย แต่ต้องการบ่อยๆ ”
ช่วงเดือนที่เมล่อนให้ผลผลิตโตเต็มที่ คนที่จองไว้ จะมาตัดผลเมล่อนและถ่ายภาพด้วยความสนุกสนาน บางคนขอให้วาดลวดลายบนเมล่อนเป็นกรณีพิเศษ อาทิ ลายสไปเดอร์แมน ลายคิตตี้ ลายผีเสื้อ ตัวหนังสือรักแม่ ซึ่งเขาต้องใช้เวลามาก จึงเลือกทำเท่าที่จะทำได้
“ช่วง 20 วันหลังผสมเกสร ลูกเมล่อนจะใหญ่กว่าไข่ไก่ ผมก็วาดลายลงไปบนตัวเมล่อน พอวาดเสร็จ มันก็รักษาแผลตัวมันเอง เป็นลายแตกสวยงามตามที่วาดไว้ และการวาดรูปแบบนี้เสี่ยงที่ลูกนั้นจะติดเชื้อ จึงวาดไว้โชว์ หรือไม่ก็จัดกิจกรรมอีเว้นท์ บางรอบทำได้แค่สิบลูกสำหรับลูกค้าพิเศษ ผมก็ใช้ความชำนาญส่วนตัว เพราะมีเวลาวาดรูปไม่กี่วัน ผมต้องช่วยผสมเกสรด้วย โดยเอาดอกตัวผู้แต้มบนดอกตัวเมีย ภายในอาทิตย์เดียวก็รู้แล้วว่า มันจะกลมเนื้อแน่นเท่ากันทุกส่วนไหม เราต้องทำให้มันสุกพร้อมกันทั้งสวนจะได้ตัดพร้อมกัน”
( เนส-ยงสุวัฒน์ พรหมกิตติโชติ)
-3-
เนส เล่าต่อว่า ในอนาคตก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะมีโอกาสทำสวนใหญ่ๆ บนพื้นดินไหม แต่ตอนนี้มีระบบรองรับเรื่องนี้แล้ว สามารถวางแผนได้ว่า ปลูกแล้วจะได้ผลผลิตต่อเนื่องทุกเดือนต้องปลูกอย่างไร และสามารถตรวจสอบความหวานของเมล่อนได้ด้วย
“อย่างเมล่อนสายพันธ์ซูเอโตะ หวานมาก วัดค่าชิดไส้ได้ 17 brix คนไทยชอบทานหวานมากๆ แบบนี้ ส่วนคนญี่ปุ่นชอบความหวานระดับ 14-15 brix เนื้อนุ่มๆ ละลายในปาก กลิ่นหอม เอามาทำขนมได้ด้วย
คนไทยที่ชอบกินเมล่อนรสชาติแบบคนญี่ปุ่นเนื้อนุ่มฉ่ำมีน้อย บางคนกินแล้วก็นึกว่าเสีย เพราะไม่เคยกินเมล่อนแบบนี้ จึงเข้าใจว่า เมล่อนต้องเนื้อกรอบ ปกติคนญี่ปุ่นจะผ่าเมล่อนครึ่งลูกแล้วเทไวน์ลงไปหรือกินเมล่อนกับนม ไอศกรีม มันเข้ากันได้"
หลังจากที่ปลูกเมล่อนมาสองปี เขาค้นพบว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรก็ปลูกผลไม้ได้ บางคนชอบคิดว่าไม่มีความรู้ด้านเกษตร ไม่ได้จบมาด้านนี้ปลูกไม่ได้หรอก ปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วย ต่างจากเกษตรกรสมัยก่อนจะใช้ความเข้าใจ
“การศึกษาเรื่องปลูกผลไม้ไม่มีที่สิ้นสุด สมัยนี้มีเทคโนโลยีช่วย วัดค่าความเป็นกรด ด่างของดิน ปกติเมล่อนไม่ต้องผ่าก็มีกลิ่นหอมล่อแมลงทั้งโรงเรือน โจทย์ของเกษตรเมล่อนคือ ปัญหาแมลง สายพันธุ์เมล่อนที่ผมได้มาแม้ยังไม่ค่อยถูกใจ ผมก็ปลูกไปเรื่อยๆ เพราะมีระบบแล้ว และสิ่งที่ยาก เราก็ชนะมันแล้ว มีระบบปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบการให้น้ำตลอดเวลา ไม่ต้องดูแลเยอะ ตอนนี้ผมต่อยอดไปปลูกอย่างอื่นได้หมด พืชเศรษฐกิจสามารถทำได้ ผมใช้ระบบไฮโดรโปรนิกส์ บางคนใช้หินภูเขาไฟ กาบมะพร้าว ผมใช้แกลบดำล้วนๆ เพื่อให้ต้นไม้ทนความร้อนและมีเกราะป้องกันแมลง ให้ปุ๋ยหยดที่โคนต้น "
ไม่ใช่แค่การปลูก การรับประทานเมล่อน ก็ต้องมีศิลปะ ถ้าต้องการรสชาติหวานมากขึ้น ให้แช่เย็นไว้สามชั่วโมง และเมล่อนแต่ละช่วงก็ให้รสชาติต่างกัน หลังจากตัดเมล่อน 1-3 วัน เนื้อจะกรอบนุ่ม หลังตัด 3-5 วัน เนื้อนุ่มฉ่ำ และหลังตัด 5-8 วัน เนื้อเยลลี่ตักทานได้แบบสไตล์ญี่ปุ่น
...........................
ดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ค MelonNezz
"พิเศษ" - Google News
July 08, 2020 at 12:02PM
https://ift.tt/2O42VHB
'เมล่อน'ที่พิเศษสุด ในฟาร์มเล็กๆ ของวิศวกร - กรุงเทพธุรกิจ
"พิเศษ" - Google News
https://ift.tt/2SQyCqt
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dm7zLA
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'เมล่อน'ที่พิเศษสุด ในฟาร์มเล็กๆ ของวิศวกร - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment